เลอเวือะ
เลอเวือะ
เลอเวือะ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูดอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเทือกเขาถนนธงชัยกลางระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวเลอเวือะมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ เช่น ระบบการทำเกษตรกรรม ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง ประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรม และความเชื่อ เป็นของตนเอง
ชุมชนเลอเวือะป่าแป๋ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งมานานมากจนไม่สามารถจำได้ว่านานเท่าใด และเคลื่อนย้ายมาจากแห่งใด แต่เดิมคนเลอเวือะเชื่อว่าเคยมีถิ่นฐานอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่าคนรุ่นเก่าจะมีเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกัน เช่น คนเลอเวือะเคยมีเมืองอยู่ที่เชียงใหม่ (เรียกตามภาษาเลอเวือะว่า เวียงชวงมาง) ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองมีคูอยู่รอบ ๆ ซึ่งคูรอบเมืองมีชื่อว่า “คือ” รวมทั้งยังเคยมีหลาบทา (เรียกตามภาษาเลอเวือะ) หรือเรียกว่าตราสารหลาบเงินเก็บไว้คล้ายบ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แต่ได้ถูกไฟไหม้ในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ จนผู้คนอพยพไปอยู่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งหลาบทานี้จะเปิดดูแต่ละครั้งจะต้องเลี้ยงด้วยสุกร
นอกจากนั้นยังพบเสาหลักเมืองหรือเสาสกั้งตามชุมชนเลอเวือะต่าง ๆ ในเขตเทือกเขาถนนธงชัยกลาง ตั้งแต่เขต อ.แม่แจ่ม อ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง ซึ่งมีชุมชนเลอเวือะไม่น้อยกว่า 10 ชุมชนตั้งอยู่ ซึ่งต่างเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเสาอินทขิลในวัดเจดีย์หลวงจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการเคลื่อนย้ายมาอยู่ตามป่าเขาของชาวเลอเวือะนั้น ยังไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานเด่นชัดบ่งบอกถึงเส้นทางการเคลื่อนย้าย แต่มีหลักฐานที่ชาวกะเหรี่ยงพบว่าเป็นร่องรอยชาวเลอเวือะคือการพบกล้องยาสูบ การพบอิฐเผาซากเจดีย์เก่า ในตำบลห้วยปูลิงที่บ้านห้วยฮี้น้อย และบ้านขุนวง ตำบลแม่เหาะ อย่างไรก็ตาม ชาวเลอเวือะบ้านป่าแป๋ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ทางใต้สุดของชาวเลอเวือะในเขตเทือกเขาถนนธงชัยกลางได้พบหลักฐานการเคลื่อนย้ายไปมาในละแวกนั้น ดังนี้
เดิมทีว่ากันว่าอยู่ทางทิศเหนือของชุมชนปัจจุบันระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ซึ่งดอยสูงลูกนั้นตามภาษาเลอเวือะว่า “ทูยวงไพรม” แปลว่า ดอยบ้านเก่า หรือเรียกอีกอย่างว่า “ทูตะไนญ” ซึ่งปัจจุบันอยู่ติดกับโรงเรียนบ้านห้วยฮากไม้เหนือ ส่วนของใช้สำหรับนำมาประกอบพิธีกรรมซึ่งจะเป็นพวกไห จะเก็บรักษาไว้ที่ป่าดงต่ำลงมาประมาณ 1 กิโลเมตร เรียกป่าดงนั้นว่า “ฆวตโกลงนอง” ซึ่งป่าดงนั้นปัจจุบันอยู่ติดเส้นางไปบ้านห้วยฮากไม้เหนือ
จากนั้นมีการเคลื่อนย้ายต่ำลงมาตามสันเขายาว ที่มีชื่อเรียกกันมาว่า “ทูยวงกัว” ปัจจุบันเป็นทางรถตามสันเขายาว และพบหลักฐานที่เป็นป่าช้าเก่าที่อยู่ถัดลงมาทางทิศตะวันตก ระยะทางจากสันเขานั้นประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ฝังศพในขณะนั้นที่ตั้งชุมชนอยู่บริเวณนั้น (เพราะชาวเลอเวือะมีประเพณีการส่งศพ ที่ต้องห่อข้าวและเหล้าพร้อมไก่เผือก 1 ตัว สำหรับผู้อาวุโสที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหากคิดดูแล้วเหตุผล คือระยะทางไกล ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานาน และปัจจุบันยังคงสืบทอดอยู่ แต่ว่าเปลี่ยนเป็นเงินแทน) จากนั้นถัดลงมาประมาณ 500 เมตร พบลานกว้างที่มีชื่อว่า ดอยสามปี ซึ่งคงตั้งชุมชนอยู่ ณ ที่นั้น 3 ปี จนมาถึงสองฟากฝั่งลำน้ำปัจจุบัน
จากการสังเกตพบว่า ที่ตั้งชุมชนจะเป็นเขาสูงมาก ซึ่งมีเหตุผลว่าการตั้งบนเขาสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้ฆ้องใหญ่ หรือที่ชาวเลอเวือะเรียกว่า โมง หากมีเหตุการณ์ต่าง ๆ สามารถติดต่อชุมชนเลอเวือะท่ตั้งอยู่อีกเขาหนึ่งด้วยการตีฆ้องบอกข่าวต่าง ๆ กัน
อ้างอิง
ประพันธ์ จันทร์ยวงและคณะ. (2557). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการฟื้นฟูเลอซอมแ’ล เลอเวือะ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
ประเสริฐ แปงมูลและคณะ. (2553). โครงการรูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 10 หมู่ 3 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.