บีซู

บีซู
บีซู
ภาษาบีซูจัดอยู่ในตระกูลจีน – ทิเบต (Sino – Tibetan) ตระกูลย่อยทิเบต – พม่า สาขาโลโล ภาษาบีซู บ้านดอยชมภู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ลักษณะทางภาษาแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาตระกูลย่อยทิเบต – พม่า กล่าวคือ มีหน่วยเสียงที่ไม่มีการแยกความแตกต่างระหว่างเสียงสั้น ยาว หรือการออกเสียงสระ จะเป็นเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น ยะ – ยา “ไร่” ซึ่งต่างจากภาษาไทยที่ออกเสียงสระสั้นหรือยาวทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง ภาษาบีซูมีวรรณยุกต์ ๓ เสียง ได้แก่ เสียงกลางระดับ เช่น ยา= ไร่ เสียงต่ำ – ตก เช่น ย่า= คัน เสียงกลางขึ้น เช่น ย้า= ไก่การเรียงคำในประโยคมีลักษณะแบบ ประธาน – กรรม – กริยา (SOV) เช่น กงา ฮ่าง จฺ่า<ฉัน – ข้าว – กิน>= ฉันกินข้าว กงา นางนา ค่าลาว วือ ปี่ ล่าแอ่ <ฉัน - คุณ – เสื้อ – ซื้อ – ให้>= ฉันซื้อเสื้อให้คุณ นาง อางเมง บาเจ๋อ<คุณ – ชื่อ – อะไร>= คุณชื่ออะไร ยูม เกิ้ง เวอ<บ้าน – ที่ไหน – อยู่>= บ้านอยู่ที่ไหน เป็นต้น
ปัจจุบันสถานการณ์ภาษาบีซูอยู่ในภาวะถดถอย เด็กบีซูไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาบีซูกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย สาเหตุหลักของการใช้ภาษาบีซูน้อยลงนั้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูเด็กบีซูในช่วงเด็กเล็ก ที่แต่เดิมเมื่อเด็กบีซูเกิดมา ผู้ที่ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดู คือ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ภาษาที่เด็กบีซูได้รู้จักและพูดได้เป็นภาษาแรกคือ ภาษาบีซู แต่ปัจจุบันจากวิถีชีวิตของชาวบีซูที่ต้องดิ้นรนในเรื่องการประกอบอาชีพ มีการทำงานรับจ้างต่างหมู่บ้าน จึงส่งลูกไปจ้างเลี้ยงนอกหมู่บ้าน ภาษาที่เด็กบีซูได้เรียนรู้เป็นภาษาแรกจึงกลายเป็นภาษาคำเมืองตามภาษาที่ผู้ดูแลใช้ สำหรับกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มจะใช้ภาษาคำเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความสามารถในการใช้ภาษาบีซูได้อย่างดี
อย่างไรก็ตามเมื่อชาวบีซูได้ดำเนินงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบีซูเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 โดยมีการพัฒนาระบบตัวเขียนภาษาบีซูโดยใช้อักษรไทย ได้มีการสร้างสื่อการเรียนการสอนประเภทต่าง ๆ เช่น หนังสือเล่มเล็ก หนังสือเล่มยักษ์ แบบเรียนภาษาบีซู เพลง แผนการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กบีซู เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนนี้เป็นเพียงการเรียนการสอนตามอัธยาศัยและสอนในระดับเด็กก่อนวัยเรียน โดยการสนับสนุนของเอสไอแอล อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังไม่ได้นำเข้าสู่การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน
อ้างอิง
สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ. (2561). โครงการบันทึกรวบรวม เพื่อการสงวนรักษาภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ : ภาษาบีซู. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
มยุรี ถาวรพัฒน์. (2557). ภาษาบีซู ใน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2557. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.