ขมุ

ขมุ

ขมุ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานบริเวณตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน ได้แก่ บริเวณทางใต้ของประเทศจีน ทางภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
จัดทำโดย: 
ณัฐมน โรจนกุล และกุมารี ลาภอาภรณ์

ขมุ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานบริเวณตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน ได้แก่ บริเวณทางใต้ของประเทศจีน ทางภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีชาวขมุอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด จากหลักฐานเอกสารเก่าแก่ทำให้เชื่อกันว่า ชาวขมุ เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ มีชื่อขมุปรากฏอยู่

คำว่า ขมุ แปลว่า คน เป็นคำที่ชาวขมุใช้เรียกตนเอง จึงเป็นทั้งชื่อเผ่าและชื่อภาษา คำเรียกชาวขมุในลาว มี 2 คำ คือคำว่า “ข่า” และ “ลาวเทิง” หรือ “ลาวบนที่สูง” เพื่อให้แตกต่างจากกลุ่มคนที่พูดภาษาลาวและตระกูลไทยอื่น ๆ สำหรับชาวขมุในประเทศไทย เป็นที่รู้จักทั้งชื่อ “ข่า” และ “ขมุ” มาเป็นเวลานาน ชาวขมุชอบสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณชายเขาหรือบนเขาสูง จึงมักถูกมองว่าเป็นชาวเขากลุ่มเล็กในภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่านบริเวณรอยต่อกับประเทศลาว นอกจากนั้นยังพบกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และอุทัยธานี 

ชาวขมุแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรมและภาษาที่ต่างกันไปเล็กน้อย และมีคำว่า ตม้อย ที่ใช้เรียกชาวขมุด้วยกันเองแต่ต่างกลุ่มกัน ต่อท้ายด้วยลักษณะเฉพาะหรือถิ่นที่อยู่ของแต่ละกลุ่ม เช่น ตม้อยปูหลวง (ชื่อหมู่บ้านเดิม) ตม้อยเพอะ (ลักษณะเฉพาะของภาษา คำว่า “กิน”) ตม้อยอัล (คำว่า “ไม่” ลักษณะเฉพาะของภาษา) ตม้อยลื้อ (อยู่ในกลุ่มพวกลื้อ) เป็นต้น คำว่า “คมุ้” หมายถึงกลุ่มของตน ใช้ในการแยกชาวขมุออกจากเชื้อชาติอื่น ๆ และคำว่า “แจะ” หมายถึงกลุ่มคนเชื้อสายไทย ทั้งไทยกลาง ไทยภาคเหนือ ลาว ลื้อ และไทดำ และใช้คำว่า “แมว” เรียกกลุ่มแม้ว เป็นต้น

นับตั้งแต่อดีต คนไทยคุ้นเคยกับชาวขมุมาเป็นเวลานาน เพราะมีชาวขมุอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงรายและน่าน ที่เข้ามาทำงานรับจ้างตามร้านค้า โรงงาน โรงบ่มยา โรงสี ทำงานป่าไม้ และทำงานตามบ้าน และมีลักษณะเด่นที่กล่าวถึงว่าเป็นผู้รักสงบ มีนิสัยขยัน อดทน ซื่อสัตว์ ส่วนชาวขมุที่ไม่ได้ทำงานข้างนอกก็นิยมทำเกษตรแบบยังชีพ ในอดีต ลักษณะเด่นของชาวขมุคือ ทั้งชายและหญิงนิยมสักตามแขนและขา การแต่งกายนิยมเสื้อผ้าสีดำหรือคล้ำเข้ม ขาวขมุไม่มีวัฒนธรรมทอผ้าใช้เอง บางกลุ่มไม่มีเสื้อผ้าประจำเผ่า บางกลุ่มจะมีเครื่องแต่งกายใกล้เคียงกับกลุ่มชนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ เช่น ผู้หญิงขมุบ้านห้วยเย็นและบ้านห้วยเอียน จังหวัดเชียงราย จะนุ่งซิ่นลายลงแบบลาวสีคล้ำ เสื้อสีดำและโพกผ้าแดงเวลาทำงาน หญิงขมุที่อำเภอทุ่งช้างและเชียงกลาง จังหวัดน่าน ใช้ซิ่นลายขวางแบบไทลื้อ สวมเสื้อผ้าหนาสีเข้ม ตกแต่งด้วยด้ายสีและเหรียญเงิน ใส่กำไลเงินที่คอ (แบบม้ง) และกำไลข้อมือ โพกผ้าสีขาว เครื่องแต่งกายดังกล่าวพบในหญิงมีอายุ ส่วนในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่จะแต่งตัวแบบคนเมือง 

 

ภาษาขมุ อยู่ในสาขาย่อยของขมุอิค (Khmuic) สาขามอญ-เขมร (Mon-Khmer) ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic Language Family) ซึ่งมีภาษามัล-ปรัย และมลาบรี เป็นภาษาร่วมสาขาย่อยเดียวกัน ภาษาขมุแต่ละถิ่นแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างเล็กน้อยด้านระบบเสียง ระดับคำ และระดับประโยค ขึ้นอยู่กับอิทธิพลภาษาอื่น ๆ ในสังคมที่มีการติดต่อสื่อสารกันด้วย ลักษณะภาษาขมุนี้ เป็นของสำเนียงหมู่บ้านห้วยเอียน อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ที่ได้มีการศึกษาและฟื้นฟูภาษาด้วยอักษรไทยแล้ว

พยัญชนะของภาษาขมุมีทั้งหมด 22 เสียง ได้แก่ ก, ค, ง, จ, ช, ซ, ญ, ด, ต, ท, น, บ, ป, พ, ฟ, ม, ย, ร, ล, ว, อ, และ ฮ. ซึ่งเป็นพยัญชนะต้นได้ทั้งหมด (เสียง ฟ อาจพบได้ในประเภทคำยืมเท่านั้น)

พยัญชนะควบกล้ำ 7 เสียง ได้แก่ ปล-, ปร-, พร-, กล-, กร-, กว- และ คร- 

พยัญชนะสะกด 15 เสียง ได้แก่ -ก, -ง, -จ, -ยฮ, -ญ, -ด, -น, -บ, -ม, -ย, -ร, -ล, -ว, และ -ฮ.

มีเสียงสระทั้งสิ้น 20 เสียง แบ่งเป็นสระเสียงสั้น -ะ, -า,  - ิ, - ี, - ึ, - ื, -ุ , - ู , เ-ะ, เ-, แ-ะ, แ-, โ-ะ, โ-, เ-าะ, -อ, เ-อะ, เ-อ, แ- ิ, และ เ-า.
และยังมีสระประสม เ- ียะ, เ- ีย, เ- ือะ, เ- ือ, -ัวะ และ  ั-ว.    

และมีเสียงวรรณยุกต์ 1 เสียง ได้แก่ -้  ระดับเสียงสูง-ตก

การพัฒนาของระบบเสียงของภาษาขมุจากหลายถิ่นพบความแตกต่างที่น่าสนใจของลักษณะน้ำเสียง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก ใช้สำหรับสร้างคำให้มีความหมายแตกต่างกัน เกิดจากการทำงานของกล่องเสียงให้มีความทุ้ม-ต่ำ สูง-เครียด แรงหรือนุ่ม-เบา เสียงดังหรือค่อย สั้น-ยาว หรือให้มีการพ่นลมหรือไม่มีพ่นลม เป็นต้น ภาษาขมุจากหลายถิ่นพบว่ามีทั้งสำเนียงที่ใช้ลักษณะน้ำเสียง สำเนียงที่ใช้วรรณยุกต์ และสำเนียงที่ใช้พยัญชนะต้นแยกความแตกต่างของคำ ลักษณะน้ำเสียงภาษาขมุที่พบในบ้านห้วยเย็นและบ้านห้วยเอียน มี 2 แบบ ได้แก่ น้ำเสียงทุ้ม เบา ใหญ่ ระดับเสียงต่ำ และน้ำเสียงแหลม เครียด เร็ว แรง ชัด ระดับเสียงสูง หรือสูง-ตก ภาษาขมุ เป็นภาษาที่มีการเรียงลำดับคำแบบ ประธาน-กริยา-กรรม คล้ายกันกับภาษาไทย เช่น เรา-กิน-ข้าว, ผม-อยู่-ที่นี่ เป็นต้น

สถานการณ์การใช้ภาษาขมุในปัจจุบัน พบว่า ชาวขมุส่วนใหญ่ยังมีการสนทนาพูดคุย และสื่อสารเป็นภาษาขมุ ส่วนในกลุ่มเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ แม้ว่ายังคงสามารถสื่อสารด้วยภาษาขมุได้ แต่ยังมีปัญหาในการพูดหรือการออกเสียงไม่ชัด รวมทั้งยังพูดภาษาเมืองปนกับภาษาขมุอีกด้วย นอกจากนี้การถ่ายทอดเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ยังถดถอยตามไปด้วยเช่นกัน เช่น เด็กหลายคนไม่รู้จักการใช้สรรพนามนำหน้าชื่อ การใช้คำศัพท์เพื่อลำดับญาติในภาษาขมุไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าภาษา วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวขมุ กำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวขมุกลุ่มหนึ่ง ที่บ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยผ่านการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2557 ในโครงการ “การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นขมุเพื่อเด็กและเยาวชน” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองเป็นสำคัญ ผ่านการจัดการเรียนการสอนภาษาขมุในชุมชน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนชาวขมุสามารถใช้ภาษาขมุได้อย่างถูกต้อง ไม่พูดปนกับภาษาเมือง พร้อมกับฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวขมุโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

จากผลการดำเนินงานฟื้นฟูภาษาดังกล่าว ได้นำไปสู่การต่อยอดและขยายผล โดยในปี 2561 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียนบ้านห้วยเอียน ให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมขมุ ผ่านการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในโครงการ “ยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ ผ่านการจัดการเรียนรู้ภาษาขมุ โดยชุมชนมีส่วนร่วม” โรงเรียนบ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยได้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมขมุในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน

อ้างอิง
(1) สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2531). ชีวิตชาวขมุจาก 50 บทสนทนา. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
(2) สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์: ขมุ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
(3) กวิน ฟุ้มเฟื้อง และคณะ. (2562). รายงานความก้าวหน้าโครงการ “ยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้ ผ่านการจัดการเรียนรู้ภาษาขมุ โดยชุมชนมีส่วนร่วม” โรงเรียนบ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
 

หัวข้อ: 
khmu_proj01_001_1.jpg
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ระบบเขียน
สรุป
ชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้มีการจัดทำระบบเขียนภาษาขมุ อักษรไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวขมุ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุสำหรับเด็กและเยาวชน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุในโรงเรียนบ้านห้วยเอียน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวขมุ บ้านห้วยเอียน ได้จัดทำหนังสือเล่มยักษ์เพื่อเป็นสื่อสำหรับจัดการเรียนการสอนภาษาขมุในโรงเรียนบ้านห้วยเอียน
Khmu_001-003.jpg
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ประเพณี, การละเล่น, พิธีกรรม
สรุป
ภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวขมุในอดีต