อูรักลาโวยจ

อูรักลาโวยจ

ภาษาอูรักลาโวยจ เป็นหนึ่งในภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ ทำให้ชาวอูรักลาโวยจที่บ้านสังกาอู้ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง ด้วยตนเอง
จัดทำโดย: 
กุมารี ลาภอาภรณ์

          อูรักลาโวยจ  หรือชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือชาวเล ชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นหมู่เกาะทางใต้ของประเทศไทย คำว่า “อูรัก” หมายถึง “คน” “ลาโวยจ” หมายถึง “ทะเล” เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเอง ปัจจุบันมีผู้พูดภาษานี้ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ภาษานี้จัดอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียน สาขามาลาอิก ภาษานี้มีความแตกต่างกับกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้จัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันก็ตาม

          อูรักลาโวยจ มีถิ่นฐานอยู่บนเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้ของเกาะพีพีดอน เกาะจำ จังหวัดกระบี่ เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และบางส่วนอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ชาวอูรักลาโวยจได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวย และอาชีพอื่น ๆ และซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ชาวอูรักลาโวยจมีพิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีลอยเรือ “อารี ปาจัก” เพื่อกำจัดเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน โดยจัดปีละ ๒ ครั้ง คือเดือน ๖ และเดือน ๑๑ และมีการละเล่นรำมะนา

           ภาษาอูรักลาโวยจ เป็นหนึ่งในภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, ๒๕๕๗) กล่าวคือ มีผู้ที่สามารถพูดได้ดีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ผู้ที่สามารถพูดและใช้ภาษาอูรักลาโวยจได้ดี อยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะพูดได้ไม่ชัด เช่น เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยออกเสียงท้าย เป็นต้น

          ชาวอูรักลาโวยจ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ โดยมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่า และความสำคัญของภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง และลุกขึ้นมาฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยมีนักภาษาศาสตร์จากศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ

          การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอูรักลาโวยจ

          ในปี ๒๕๕๓ ชุมชนชาวอูรักลาโวยจ ได้เริ่มต้นฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยผ่านการทำงานในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการได้รับการสนับสนุนงานด้านวิชาการจาก นักวิชาการและนักวิจัยจากศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำงานร่วมกับชุมชน ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุด

          การทำงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอูรักลาโวยจ ในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๙ จำนวน ๒ โครงการได้แก่

          ๑) ปี ๒๕๕๓ ได้ดำเนินงานในโครงการ “แนวทางในการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของชาวอูรักลาโวจ บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่”โดยมีนายนิรัตน์ หาญทะเล เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบท วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงสถานการณ์และศักยภาพของชุมชนในการใช้ภาษาอูรักลาโวยจเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เหมาะสมกับชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ และเพื่อหาแนวทางในการบันทึกข้อมูลชุมชนด้วยภาษาอูรักลาโวยจ ที่เหมาะสมกับชาวอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้

           ๒) ปี ๒๕๕๖ ได้ดำเนินงานในโครงการ “บวยจ เดะ ลากฺ ซูกา บวยจ" เยาวชนอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” โดยมีนางสาวศันสนีย์ ทะเลลึก เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอูรักลาโวยจอย่างอิสระ ตามที่ตนเองสนใจ เพื่อทำให้เกิดการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอูรักลาโวยจ โดยพลังเยาวชน และเพื่อให้ชุมชนชาวอูรักลาโวยจเกิดความตระหนักในการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอูรักลาโวย

          การดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น สามารถจำแนกรูปแบบการฟื้นฟูภาษาได้ ๒ ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาภาษาถิ่น และด้านการเก็บรวบรวม และบันทึกองค์ความรู้ทางภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมกับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ

 

แหล่งอ้างอิง

นิรัตน์ ทะเลลึกและคณะ. (๒๕๕๕). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการแนวทางในการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของชาวอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

มยุรี ถาวรพัฒน์. (๒๕๕๖). “ภาษาอูรักลาโวยจ” ใน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ศันสนีย์ ทะเลลึกและคณะ. (๒๕๕๙). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการบวยจ เดะ ลากฺ ซูกา บวยจ เยาวชนอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (๒๕๔๗). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (๒๕๖๒). โครงการบันทึกรวบรวมเพื่อการสงวนรักษาภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ : ภาษาอูรักลาโวยจ. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

หัวข้อ: 
พยัญชนะภาษาอุรักลาโวจ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ระบบเขียน
สรุป
ระบบเขียน ภาษาอูรักลาโวยจอักษรไทย เป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอูรักลาโวยจ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
พิธีกรรม
สรุป
พิธีลอยเรือ เป็นพิธีกรรมที่ชาวอูรักลาโวยจจะนำสิ่งของ หรือสิ่งไม่ดีมาใส่ในเรือ แล้วลอยไปกับเรือถึงกูนุงเยอรัย และให้มีแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน โดยจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ เดือน 6 และเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
ทีมวิจัยชาวอูรักลาโวยจได้ร่วมกันจัดทำหนังสือนิทานเล่มยักษ์ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาอูรักลาโวยจสำหรับเด็ก ๆ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
การละเล่น
สรุป
การละเล่นรำมะนาเป็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน ถือเป็นมรดกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวอูรักลาโวยจ