การสานตาเหลว (ตาเหลวบิด)

สรุป: 
ตาเหลวของชาวบีซู เป็นสัญลักษณ์ในการป้องกันสิ่งไม่ดี หรือสิ่งชั่ว ร้ายตามความเชื่อตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
รายละเอียด: 

ปัจจุบันองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบีซู โดยเฉพาะเครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้ ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก เนื่องจากหมู่บ้านดอยชมภู เป็นหมู่บ้านที่ติดถนนใหญ่ ใกล้ตลาด ทำให้หาซื้อเครื่องใช้ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำขึ้นใช้เอง แต่อย่างไรก็ตามเครื่องใช้ที่มีความสำคัญ และมีบทบาทสำหรับใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบีซู คือ “ตาเหลว” ทำจากไม้ไผ่ เป็นสัญลักษณ์ในการป้องกันสิ่งไม่ดี หรือสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ปัจจุบันพบว่าชาวบีซูส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในวัยกลางคน ไม่สามารถสานตาเหลวไว้ใช้เองได้ มักจะให้เป็นผู้เฒ่า หรือผู้สูงอายุที่สามารถสานได้

ตาเหลวบิด ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ใช้เมื่อจะเริ่มปลูกข้าวไร่ โดยนำตาเหลวมัดติดกับไม้ไผ่ แล้วปักทั้ง ๔ มุม และนำไม้กระทุ้งมาปักตรงกลาง บอกกล่าวว่า “ขอให้ได้ข้าวเยอะ ๆ อย่าให้สัตว์มารบกวน” และ ใช้ตอนตีข้าว โดยนำตาเหลวมาปักตรงมุมลานตีข้าวทั้ง ๔ ทิศนอกจากนี้ชาวบีซูยังใช้ตาเหลวในการประกอบพิธีกรรมไหว้หอเสื้อบ้านในเดือน ๘ โดยนำตาเหลวมาปักบริเวณประตูทางเข้าหมู่บ้านทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๒ อัน รวมทั้งยังใช้กับแม่ลูกอ่อนที่อยู่ไฟ โดยนำตาเหลวมาปิดหม้อต้มยาอีกด้วย

อ้างอิง : สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ. (2561). โครงการบันทึกรวบรวม เพื่อการสงวนรักษาภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ : ภาษาบีซู. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

บ้านดอยชมภู ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย