พิธีลอยเรือ (อารี ปาจัก)

สรุป: 
พิธีลอยเรือ เป็นพิธีกรรมที่ชาวอูรักลาโวยจจะนำสิ่งของ หรือสิ่งไม่ดีมาใส่ในเรือ แล้วลอยไปกับเรือถึงกูนุงเยอรัย และให้มีแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน โดยจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ เดือน 6 และเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ
รายละเอียด: 

ความเป็นมาของพิธีลอยเรือ

     ในอดีตชาวอูรักลาโวยจอพยพมาจาก กฺนุงเยอรัย จนลอยเรือมาเรื่อย ๆ จนถึงเกาะลันตาที่หาดยังปูเตะ จากนั้นไม่นานชาวบ้านเริ่มล้มป่วย เจะซีนัย กับ เจะเจดนาจึงคิดหาทางทำให้ชาวบ้านหายป่วย ทั้งสองจึงได้ต่อเรือ และชวนชาวบ้านมาทำพิธีโดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง และนำสิ่งของไม่ดีมาใส่ในเรือ แล้วนำเรือไปปล่อยเพื่อให้สิ่งไม่ดีฝากไปกับเรือโดยผ่านบรรพบุรุษ ให้สิ่งไม่ดีลอยไปกับเรือถึงกฺนุงเยอรัยแล้วให้เหลือแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน

     ชาวอูรักลาโวยจจึงถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยใน 1 ปี จะจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจได้เปลี่ยนมาจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11

Cultural Narrative: 

     พิธีลอยเรือ ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้เวลาในการประกอบพิธีหลายวัน และหลายขั้นตอน ผู้ประกอบพิธีหลักคือดาโต๊ะ หรือโต๊ะหมอ ซึ่งถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ชาวอูรักลาโวยจทุกคนให้ความนับถือ การจัดพิธีลอยเรือในแต่ละครั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของชุมชนจากทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ชายที่มีส่วนร่วมในการตัดไม้ หรือต่อเรือ กลุ่มนักดนตรีที่ต้องเล่นรำมะนาตลอดทั้งคืน รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้านที่ต้องจัดเตรียมของและอาหารสำหรับประกอบพิธีกรรม ขณะเดียวกันพิธีลอยเรือจัดว่าเป็นพิธีที่สร้างความสนุกสนานให้กับคนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย เนื่องจากมีการละเล่นรำมะนาตลอดทั้งวัน รวมทั้งชาวบ้านทุกคนยังได้มีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีแห่เรือที่ชาวบ้านทุกคนได้มีโอกาสแต่งตัวกันอย่างสวยงาม และร่วมเดินแห่เรือไปพร้อมกับเสียงเพลงและเสียงดนตรีอย่างสนุกสนาน

ความรู้ดั้งเดิมเฉพาะกลุ่ม: 

ขั้นตอนพิธีลอยเรือ

     ในการจัดงานพิธีลอยเรือ ชาวอูรักลาโวยจจะมีการประชุมร่วมกันโดยแต่งตั้งหัวหน้าจัดงาน 3 คน มีหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน คือคนที่ 1 ทำหน้าที่ติดต่อกับโต๊ะหมอว่าจะทำพิธีหรือไม่  คนที่ 2 ทำหน้าที่ประกาศให้ชาวบ้านรู้พร้อมกับเตรียมตัวจัดงานร่วมกันและ คนที่ 3 ทำหน้าที่แบ่งงานให้กับชาวบ้าน เช่น ใครไปตัดไม้กำ ใครเป็นผู้ควบคุมการต่อเรือ เป็นต้นส่วนใหญ่หน้าที่เหล่านี้จะมีบุคคลที่รับผิดชอบอยู่เป็นประจำทุกปีเมื่อแบ่งหน้าที่กันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเริ่มดำเนินงานวันแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ ตามขั้นตอนดังนี้

     1) ตัดไม้กำ / ไม้ตีนเป็ด 

     2) ทำพิธีขอดาโต๊ะ 

     3) ต่อเรือ 

     4) แห่เรือ 

     5) รำวงรำมะนา 

     6) เลบาเล 

     7) ลอยเรือ 

     8) ตัดไม้พาดัก 

     9) ทำน้ำมนต์

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

บ้านสังกะอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่