เกี่ยวกับ LangArchive-TH

 

ประเทศไทยมีกลุ่มภาษาทั้งสิ้นประมาณ 70 กลุ่ม ในจำนวนนี้มีภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตถึง 15 กลุ่ม ผลกระทบของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของเมือง ทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญของชุมชนคนกลุ่มน้อยที่สูญเสียวิถีชีวิตแบบเดิม ทำให้คนเหล่านั้นพยายามที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและเศรษฐกิจในเมือง ความกดดันดังกล่าวทำให้ประชาชนดิ้นรนเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อเข้าสู่สังคมเมือง ทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนมาใช้ภาษาหลักที่มีความสำคัญกว่าภาษาของตนเอง เช่น ไม่มีการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพราะคนรุ่นใหม่เข้าเมืองเพื่อหางานมากขึ้น จึงไม่ได้อยู่กับครอบครัวเดิม หากภาษาหายความรู้ที่สืบบทอดกันมายาวนานก็หายไปด้วย เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆมักไม่เคยมีการบันทึกองค์ความรู้มาก่อน ปัจจุบันชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกจำนวนมากพยายามหาวิธีการที่จะธำรงรักษาภาษาและความรู้ทางวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้

LangArchive-TH ให้ความสำคัญในเรื่อง การสูญเสียความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลทำให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาวิธีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยปราชญ์และคนในชุมชนเองรวมทั้งพัฒนาศักยภาพคนในระดับท้องถิ่น มีการพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลที่ชุมชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยกับนักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบระดับสังคม นอกจากนี้แล้วชุมชนที่อยู่ห่างไกลเมือง โดยเฉพาะกลุ่มภาษาในภาวะวิกฤต เป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน มีความเสมอภาค เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

LangArchive-TH มีจุดประสงค์เพื่อจัดทำระบบคลังข้อมูลดิจิทัลให้เป็นมาตรฐาน และมีโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อรองรับการศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยผ่านเว็บไซต์ langarchive-th.com ภายใต้โครงการ “คลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์: ส่งเสริมการปกป้อง และดำรงรักษา ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในประเทศไทย” ร่วมกับ Endangered Languages Archive (ELAR), SOAS University of London ด้วยทุนสนับสนุนจาก Newton Fund