ชอง

ชอง

ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนเอเชียอาคเนย์ กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะบริเวณที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ปัจจุบันพบชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี
จัดทำโดย: 
ณัฐมน โรจนกุล

คำว่า “ชอง” แปลว่า “คน” ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนเอเชียอาคเนย์ สมัยอาณาจักรเขมร เป็นกลุ่มชนที่มีชื่อเสียงในการทำกระวาน และเครื่องเทศต่าง ๆ ชาวชองและกลุ่มชนใกล้เคียง กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะบริเวณที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ในบางพื้นที่จะเรียกคนชองว่า “ชึ่มช์อง” ปัจจุบันพบชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ตำบลตะเคียนทอง และตำบลคลองพลู ส่วนในเขตตำบลพลวง และในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อนยังมีประชากรที่พูดภาษาชองได้เพียงไม่กี่คน ชาวชองส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ และยางพารา มีการทำนาเพื่อกินในครอบครัว ส่วนการทำกระวานมีเฉพาะในเขตเขาสอยดาว

            ภาษาชอง เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ – เขมร กลุ่มย่อยเปียริก ภาษาในสาขาเดียวกันที่มีความใกล้เคียง ได้แก่ ภาษากะซอง และภาษาซำเรที่พบในจังหวัดตราด และภาษาซะอุ้ง ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี ภาษาชองเป็นภาษาที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ – เขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตัวสะกด จ ญ และ ฮ เป็นต้น และมีลักษณะน้ำเสียงที่โดดเด่น แทนการมีเสียงวรรณยุกต์ ดังที่พบในภาษาไทย โดยภาษาชองมีระบบเสียงที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ - เขมรชัดเจน โดยมีพยัญชนะต้น (๒๒ ตัว) พยัญชนะสะกด (๑๑ ตัว) ภาษาชองไม่มีวรรณยุกต์ แต่มีลักษณะน้ำเสียง โดยมีลักษณะน้ำเสียงถึง ๔ ลักษณะ ได้แก่ ๑) ลักษณะน้ำเสียงกลางปกติ เช่น กะวาญ = กระวาน, กะปาว = ควาย ๒) ลักษณะน้ำเสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) เช่น กะว่าย = เสือ, มะง่าม = ผึ้ง ๓) ลักษณะน้ำเสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ค้อน = หนู, ซู้จ = มด ๔) ลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ช์อง = ชอง, เม์ว = ปลา ไวยากรณ์ภาษาชองโดยทั่วไปมีลักษณะเรียงคำแบบประธาน – กริยา – กรรม เช่นเดียวกับภาษากลุ่มมอญ-เขมรอื่น ๆ เช่น ประโยคว่า อูญ ฮอบ ปล็อง ม่อง เม้ว <พ่อ-กิน-ข้าว-กับ-ปลา> = พ่อกินข้าวกับปลา ลักษณะไวยากรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือการใช้คำปฏิเสธ ๒ คำ ประกบหน้าและหลังคำกริยาหรือกริยาวลี เช่น ย่าย ม่อง ตา พ์าย นั่ก อิฮ อีน กะปิฮ ฮอบ ปล็อง อิฮ  <ยาย-กับ-ตา-สอง- คน-ไม่-มี-อะไร-กิน-ข้าว-ไม่> = สองคนตายายไม่มีอะไรจะกิน เป็นต้น

ปัจจุบันการใช้ภาษาชอง ตลอดจนวัฒนธรรมของชาวชองอยู่ในภาวะถดถอยเป็นอย่างมาก คนชองส่วนมากใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวันแม้แต่ผู้สูงอายุ เยาวชนชาวชองรุ่นอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี ไม่สามารถพูดภาษาชองได้ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง ภาษาชองจึงจัดเป็นภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นรุนแรงใกล้สูญ ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่สะท้อนผ่านคำศัพท์ในภาษาชอง เช่น เรื่องเกี่ยวกับป่า พรรณพืช อาหารพื้นบ้าน และสมุนไพร พิธีกรรม ความเชื่อและประเพณี เช่น พิธีแต่งงาน “กาตัก” ของชาวชอง และการละเล่นพื้นบ้าน เช่น “ซะบา” เป็นต้น

อย่างไรก็ตามชาวชองได้มีความพยายามฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยได้มีการสร้างระบบตัวเขียนภาษาชองด้วยตัวอักษรไทย และการสร้างวรรณกรรมหนังสืออ่านภาษาชองระดับต่าง ๆ มีการสอนภาษาชองเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน และมีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมชองสำหรับเป็นแหล่งข้อมูล จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและอื่น ๆ อีกทั้งมีการเริ่มศึกษาฟื้นฟูพืชพื้นบ้าน เช่น คลุ้ม – คล้า หรือชาวชองเรียกว่า “รุ่นทาก – รุ่นเชอ” เป็นต้น

อ้างอิง

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2559). ภาษาชอง. ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2550). ประสบการณ์การฟื้นฟูภาษาในประเทศไทย กรณีภาษาชอง จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: หจก.วนิดาการพิมพ์.

หัวข้อ: 
ระบบเขียน_ตัวหนังสือภาษาชอง
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ระบบเขียน, เรื่องเล่า
สรุป
ระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาชอง
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
คำศัพท์
สรุป
คำศัพท์ภาษาชอง ถิ่นคลองพลูในชีวิตประจำวัน จำนวน 1441 คำ
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
สื่อการเรียนการสอนภาษาชอง ประเภทหนังสือเล่มยักษ์เรื่อง กะค่อ ม็่องกะท่ง
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
สื่อการเรียนการสอนภาษาชอง ประเภทหนังสือเล่มยักษ์เรื่อง ท่อ พิ่ที โปย
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
เพลง
สรุป
เพลงคนชอง บ้านทุ่งตะเคียนทอง ทำนองและเนื้อเพลงโดย นาย สิทธิ์
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
เรื่องเล่า
สรุป
"โพะ" หมายถึง ความฝัน ในภาษาชอง เป็นนิทานที่เล่าถึง เสือที่ฝันว่าได้กินช้าง เมื่อช้างรู้จึงต่อรองและหาวิธีแก้ฝัน
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
สื่อการสอน
สรุป
สื่อการเรียนการสอนภาษาชอง ประเภทหนังสือเล่มยักษ์เรื่อง กะมรา ม็่อง โจ ปอด ฮาย