อ่าข่า

อ่าข่า

กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า (Akha) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาอยู่ในตระกูลจีน – ทิเบต สาขาธิเบต – พม่า มีประชากรประมาณ 50,000 คน (สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ, 2547) ประชากรอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยจำนวนมาก
จัดทำโดย: 
กุมารี ลาภอาภรณ์

อ่าข่า

กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า  (Akha) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาอยู่ในตระกูลจีน – ทิเบต สาขาธิเบต – พม่า มีประชากรประมาณ 50,000 คน (สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ, 2547) ประชากรอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่ 20 อำเภอ 63 ตำบล 268 หมู่บ้าน จังหวัดที่มีชาวอ่าข่าอาศัยอยู่มากที่สุดคือจังหวัดเชียงราย เฉลี่ยประมาณ 60 % ของชาวอ่าข่าในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งชาวอ่าข่าเหล่านี้จะกระจายอาศัยอยู่ใน 11 อำเภอ 38 ตำบล และ 221 หมู่บ้านทั่วจังหวัดเชียงราย (ไต้ชิงเซี่ยและคณะ, 2552) 

กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า สามารถแบ่งได้อีกหลายกลุ่ม และส่วนมากแบ่งกลุ่มตามลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง สภาพที่อยู่อาศัย ชื่อที่ผู้อื่นเรียก หรือชื่อตระกูล สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย (ปนัดดา บุณยสาระนัยและหมี่ยุ้ม เชอมือ, 2547) ได้แก่
1) อ่าข่าอูโล้ หรือเรียกว่า อ่าข่าไทย เป็นอ่าข่ากลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ได้อพยพมาจากเชียงตุง ประเทศพม่า มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดอยตุง และบริเวณอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จากนั้นอพยพไปอยู่ที่บ้านอ่าข่า ดอยแสนใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ บ้านอ่าข่าดอยสะโง้ะ อำเภอเชียงแสน ถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คำว่า “อูโล้” เป็นภาษาอ่าข่า หมายถึง “หมวกหัวแหลม” คือผู้หญิงชาวอ่าข่าที่แต่งงานแล้วจะสวมหมวกแบบทรงสูง รูปทรงกรวย
2) อ่าข่าโลมี หรือเรียกว่า อ่าข่าพม่า เป็นกลุ่มชาวอ่าข่าที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังกลุ่มอ่าข่าอูโล้ อ่าข่ากลุ่มนี้อพยพมาจากเมืองดอยหมี ประเทศพม่า ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บางกลุ่มอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก การแต่งกายของผู้หญิงจะสวมหมวกแบบทรงสูง มีแผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูรองรับข้างหลัง ซึ่งแตกต่างออกไปจากกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน
3) หล่าบืออ่าข่า หรือเรียกว่า อ่าข่าจีน คำว่า “หล่าบือ” เป็นภาษาอ่าข่า มีความหมายว่าประเทศจีนหรือชาวจีน อ่าข่ากลุ่มนี้คิดว่าบรรพบุรุษของตนเองอยู่ในประเทศจีน ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่ประเทศพม่า และค่อยอพยพเข้ามาในประเทศไทย หลังจากที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ได้อาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวจีน จึงได้ซึมซับเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีต่าง ๆ มาจากชาวจีน ผู้หญิงจะสวมหมวกแบนทรง 5 เหลี่ยม

ชาวอ่าข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้คนส่วนใหญ่เรียกกลุ่มนี้ว่า “ชาวเขา” ประกอบกับรัฐบาลไทยได้ใช้คำนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2502 พร้อมกับการเริ่มนโยบายพัฒนาชาวเขาและพื้นที่สูงโดยหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งไปที่กลุ่มชาวเขา 9 กลุ่มคือ ม้ง กะเหรี่ยง ลัวะ ถิ่น ขมุ อ่าข่า ลาหู่ เมี่ยน และลีซอ (ปนัดดา บุณยสาระนัย, 2546) 

สถานการณ์การใช้ภาษาของชาวอ่าข่า บ้านแม่สะแลป พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่พูดภาษาอ่าข่าปนกับภาษาไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่ทำให้ชาวอ่าข่ามีการติดต่อสื่อสาร ค้าขายกับคนภายนอก ทำให้ต้องใช้ภาษาอ่าข่าปนกับภาษาไทย ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา ทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสให้ชาวอ่าข่าใช้ภาษาไทยมากขึ้น ตลอดจนกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวอ่าข่า บ้านแม่สะแลปจึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง ภายใต้โครงการ “ฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านประวัติศาสตร์และคำสอนของชาวอ่าข่า”

หมายเหตุ: หนังสือทั่วไปจะใช้คำว่า “อาข่า” แต่เมื่อทีมวิจัยได้ร่วมจัดทำระบบเขียนแล้ว การเขียนที่สอดคล้องกับการออกเสียงและการเขียนคือ “อ่าข่า” ดังนั้นทีมวิจัยจึงยึดการใช้ตามหลักการของระบบเขียน โดยใช้คำว่า “อ่าข่า” 

 

อ้างอิง

อาสึ เดโชดำรงและคณะ. (2561). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ ““ฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านประวัติศาสตร์และคำสอนชาวอาข่า” บ้านแม่สะแลป ต.แม่สะลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ไต้ชิ่งเซี่ย และคณะ ฯ. แปลและเรียบเรียงโดย สหัทยา สิทธิวิเศษ.(2552). ชาวอาข่าและสภาพการใช้ภาษาอาข่า ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย.

ปนัดดา บุณยสาระนัยและหมี่ยุ้ม เชอมือ. (2547). อาข่า หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสู่เมือง. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปนัดดา บุณยสาระนัย. (2546). เรื่อง “ชนเผ่าอาข่า: ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างให้สกปรก ล้าหลังแต่ดึงดูดใจ”. ใน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (บก.), อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ (หน้า 81 – 115). กรุงเทพ ฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

หัวข้อ: 
Akha_cdrel01_0001_1_0.jpg
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ระบบเขียน
สรุป
ระบบเขียน ภาษาอ่าข่าอักษรไทย เป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอ่าข่า บ้านแม่สะแลป ต.แม่สะลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
คำศัพท์, เรื่องเล่า
สรุป
ทีมวิจัยชุมชนชาวอ่าข่า ได้จัดทำหนังสือรวบรวมคำศัพท์ นิทาน ประวัติศาสตร์ของชาวอ่าข่า บ้านแม่สะแลป โดยใช้ระบบเขียนภาษาอ่าข่า อักษรไทย
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
เรื่องเล่า
สรุป
ทีมวิจัยชุมชนชาวอ่าข่า ได้บันทึกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนจากนายอาจ่า เวยื่อ ด้วยการสัมภาษณ์
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ขั้นตอน
สรุป
ขั้นตอนการทำอาหารอ่าข่า