ระบบเขียน ภาษาอูรักลาโวยจ

สรุป: 
ระบบเขียน ภาษาอูรักลาโวยจอักษรไทย เป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอูรักลาโวยจ
รายละเอียด: 

          การทำงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการพัฒนาภาษาท้องถิ่น ถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการทำระบบเขียนภาษาท้องถิ่น โดยใช้ตัวอักษรไทย ๑ ตัว แทน ๑ เสียง เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกองค์ความรู้ทางภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง ทำให้เกิดระบบเขียนพยัญชนะต้น ตัวสะกด และสระ

          การพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ ได้เริ่มต้นภายใต้การดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในโครงการ “แนวทางในการศึกษาศักยภาพของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของชาวอูรักลาโวจ บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่” ในกระบวนการพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และชุมชนเจ้าของภาษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนเจ้าของภาษาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกใช้ตัวอักษรด้วยตนเอง ทำให้ได้ระบบเขียนพยัญชนะต้น ๒๒ เสียง พยัญชนะสะกด ๑๑ เสียง สระเดี่ยว ๘ เสียง และเสียงสระประสม ๒ เสียง จากนั้นขั้นตอนต่อไปคือการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกให้เกิดนักเขียนชุมชน กล่าวคือ ทำให้ชุมชนเจ้าของภาษาสามารถใช้ระบบเขียนได้อย่างมั่นใจ และถูกต้อง โดยเริ่มจากการฝึกเขียนคำศัพท์ ประโยค บทสนทนา นิทาน เรื่องเล่า และนำไปสู่การบันทึกองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ

          นอกจากนี้การพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ ยังได้ทำให้ชุมชนชาวอูรักลาโวยจ โดยเฉพาะทีมวิจัยชุมชนเกิดความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจนี้สามารถเขียนได้ตรงตามที่ออกเสียง โดยเฉพาะเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา - วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล